Thailand InSAR Center of Excellence (TICE)

การตรวจวัดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยเทคนิค Time-series InSAR


Displacement Monitoring of Srisawat fault, Kanchanaburi Province using Times-series InSAR Techniques.

โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2559



คณะผู้วิจัย

1. ดร.ปัทมา พอดี มหาวิทยาลัยบูรพา (หัวหน้าโครงการวิจัย)

2. อาจารย์สุจินตนา ชมภูศรี มหาวิทยาลัยบูรพา


บทคัดย่อ Abstract

      การตรวจวัดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยเทคนิค Time-series InSAR มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วและอัตราการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ในอดีต 2. ประยุกต์เทคนิค Time series InSAR เพื่อหาความเร็วของการเคลื่อนตัวของแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ในช่วง Interseismic และ 3. ศึกษาแนวทางการติดตามการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกบริเวณรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และคาบอุบัติซ้ำ โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม RADARSAT-1 จำนวน 12 ภาพ ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 50 x 50 ตารางกิโลเมตร ด้วยเทคนิค Time series InSAR ซึ่งอาศัยค่าต่างเฟสเป็นหลัก และนำผลลัพธ์มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางธรณีวิทยาและการสำรวจภาคสนาม

      ผลการศึกษาพบจำนวนจุดที่แสดงค่าการเคลื่อนตัวของแผ่นดินจำนวน 44,788 จุด มีค่าระหว่าง -39.7 ถึง 54.3 มิลลิเมตรต่อปี ผลลัพธ์ไม่พบรูปแบบการเคลื่อนตัวในช่วง Interseismic อย่างชัดเจน เนื่องจากสาเหตุ 3 ประการคือ 1. จำนวนภาพที่นำมาใช้งานไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์การเคลื่อนตัวขนาดเล็กได้ 2. ปัญหาเรื่อง Temporal Decorrelation อันมาจากพืชพรรณที่หนาแน่นและการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่ซับซ้อนทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่สะท้อนถึงค่าการเคลื่อนตัวบนพื้นผิวดินอย่างแท้จริง 3. การวางตัวของแนวรอยเลื่อนกับทิศทางของ LOS เกือบตั้งฉากกัน ทำให้วิเคราะห์การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวระดับแบบเหลื่อมขวาไม่ชัดเจน ผลการศึกษาทางธรณีวิทยาพบคาบอุบัติซ้ำที่ 3,500 ปี และมีอัตราการเลื่อนตัวในอดีต 0.25 ถึง 0.56 มิลลิเมตรต่อปี สำหรับแนวทางการติดตามพฤติกรรมของรอยเลื่อนในอนาคตคือ วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-1 ซึ่งเป็นดาวเทียมที่เริ่มบันทึกภาพเมื่อปี พ.ศ. 2558 บันทึกภาพซ้ำ ณ ตำแหน่งเดิมทุก ๆ 12 วัน หากมีจำนวนภาพที่มากพออาจจะเห็นพฤติกรรมของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ได้

คำสำคัญ : รอยเลื่อนมีพลัง, การเคลื่อนตัวในช่วงก่อนการเกิดแผ่นดินไหว, รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์, เทคนิคอินซาร์


      Using Time-series InSAR techniques to measure displacement of Srisawat fault, Kanchanaburi province is proposed to firstly study previous earthquakes and the past displacement rate of Srisawat fault, secondly apply Time-series InSAR techniques to determine the displacement rate in Interseismic period, and finally study on the tracking of crustal movement and recurrence period. The 12 SAR data from RADARSAT-1 satellite covering 50 x 50 km2 swath width were analyzed using phase different in Time-series technique together with geological and field survey data.

      The result showed that 44,788 PS points were observed, ranging from -39.7 to 54.3 mm per year. However, the result did not clearly reveal any pattern of movement during the Interseismic period, for the following given reasons: 1. The number of images used is not sufficient to analyze small movements. 2. Temporal decorrelation problem which comes from dense vegetation and changes over time comprising complex terrain making the results do not reflect the surface displacement 3. The alignment of fault line and the line of sight (LOS) were almost perpendicular so the displacement analysis of right lateral strike slip was uncertain. The geological study found that the recurrence period is 3,500 years and the past slip rate is ranging from 0.25 to 0.56 mm per year. For future work, the follow-up approach to study fault behavior is going to use the data from Sentinel-1 satellite, which began recording since 2015 with the repeated pass cycle to record data at the same location every 12 days. If a dataset is large enough, the displacement of the Srisawat fault possibly will be perceived.

Keywords : Active Fault, Interseismic Motion, Srisawat Fault, InSAR Technique


ที่มาและความสำคัญของโครงการ

      แผ่นดินไหว เป็นปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวโดยฉับพลันของแผ่นเปลือกโลก ส่วนใหญ่แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกที่เป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลายที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลกและลอยตัวผลักดันให้เปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่างๆกัน พร้อมกับมีการสะสมพลังงานไว้ภายใน การเกิดแผ่นดินไหวคือการเกิดการสั่นสะเทือนของพื้นดินอันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อลดแรงเค้นที่สะสมไว้ในเปลือกโลกออกมาและปรับสมดุลของเปลือกโลก ซึ่งทฤษฏีที่จะนำมาอธิบายกลไกการเกิดแผ่นดินไหวที่สอดคล้องกับรอยเลื่อนคือ Elastic Rebound Theory of Earthquake ทฤษฎีว่าด้วยการคืนตัวของวัตถุ อธิบายการสั่นสะเทือนเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเมื่อเคลื่อนถึงจุดหนึ่งที่สามารถเอาชนะแรงเสียดทานที่อยู่ในชั้นหิน รอยเลื่อนจะเคลื่อนที่ออกจากกันพร้อมกับปลดปล่อยพลังงานออกมา หลังจากนั้นจะกลับคืนกลับมาในตำแหน่งเดิม ปฏิกิริยาการคืนตัวนี้เรียกว่า Elastic Rebound ส่วนพลังงานที่ถูกปลดปล่อยและสะสมนี้เรียกว่า Elastic Stain Energy ทฤษฎีนี้สนับสนุนแนวความเชื่อที่ว่า แผ่นดินไหวมีกลไกเกี่ยวข้องโดยตรงและใกล้ชิดกับแนวรอยเลื่อนต่างๆ โดยเฉพาะรอยเลื่อนมีพลัง กระบวนการเกิดแผ่นดินไหวมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของวงจรแผ่นดินไหวลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวที่ซ้ำๆ และต่อเนื่องกัน จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวิเคราะห์และนำไปสู่แบบจำลองวงจรแผ่นดินไหว Reid’s Elastic Rebound คิดค้นโดย Harry Fielding Reid จากการสังเกตพฤติกรรมของแผ่นดินไหวที่ San Francisco เมื่อปี 1906 ในบริเวณรอยเลื่อน San Andreas ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร ซึ่งมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกับรอยเลื่อน North Anatolian ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อนำแบบจำลอง Reid’s Elastic Rebound มาดัดแปลงให้สอดคล้องตามการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนตามแนวระดับเหลื่อมซ้าย สามารถอธิบายขั้นตอนการเกิดแผ่นดินไหวได้ ดังภาพ

ภาพที่ 1 การเคลื่อนตัวทางราบในแต่ละขั้นตอนของวงจรการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งอธิบายด้วยแบบจำลอง Reid’s Elastic Rebound โดยดัดแปลงให้สอดคล้องกับรอยเลื่อนเหลื่อมซ้าย (ดัดแปลงภาพจาก Wright, 2002; Thatcher, 1993)


      บริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกซึ่งเป็นส่วนที่ชนกัน และเสียดสีกัน หรือแยกออกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นแผ่นเปลือกโลกใดๆ ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใดๆ แล้วประเทศนั้นก็จะมีความเสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินไหวสูง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ในประเทศไทยมีการเกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันแต่มีระดับความรุนแรงไม่มาก ซึ่งจะพบได้บ่อยในบริเวณใกล้เคียงกับแนวรอยเลื่อนที่มีพลัง เช่น บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย

      กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ เป็นรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 220 กิโลเมตร เริ่มต้นพาดผ่านพื้นที่ของสหภาพพม่าต่อเนื่องเข้าเขตประเทศไทยในพื้นที่อำเภออุ้มผาง ของจังหวัดตาก อำเภอทองผาภูมิ ของจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ต่อเนื่องมาอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอหนองปรือ และอำเภอบ่อพลอย ของจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอด่านช้างของจังหวัดสุพรรณบุรี รอยเลื่อนนี้วางตัวขนานมากับลำแม่น้ำแควใหญ่ จากการตรวจวัดด้วยเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวพบว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 ได้เกิดแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ใกล้ลำห้วยแม่พลู เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ด้วยขนาด 5.9 แรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพมหานคร และมีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นอีกมากกว่าร้อยครั้ง



ภาพที่ 2 แผนที่ตำแหน่งสถิติการเกิดแผ่นดินไหวซ้อนทับกับภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 จังหวัดกาญจนบุรี แผนที่ดัดแปลงมาจาก ข้อมูลตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหวจาก xx


      InSAR (Interferometric Synthetic Aperture Radar) คือ เทคนิคที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการหาความสูงภูมิประเทศสำหรับงานทางด้าน Remote Sensing หลักการทำงานที่สำคัญของเทคนิค InSAR คืออาศัยการวิเคราะห์ผลต่างเฟสของภาพ SAR ตั้งแต่สองภาพขึ้นไป (Phase Differential) ซึ่งภาพทั้งสองจะถูกบันทึกในตำแหน่งเดียวกันแต่คนละช่วงเวลา ผลต่างเฟสนี้สามารถนำมา สร้างแบบจำลองความสูงภูมิประเทศ (DEM) และสามารถศึกษาถึงรูปแบบการเปลี่ยนแปลง (Deformation Pattern) ในลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ภาพที่ถูกสร้างจากผลเฟสที่ต่างกันนี้เรียกว่า Interferogram เทคนิค InSAR เป็นเครื่องมือในการติดตามการเปลี่ยนแปลงที่ให้ระดับความถูกต้องถึงมิลลิเมตร สามารถวิเคราะห์พื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น พื้นที่ภูเขาสูง พื้นที่ที่มีความลาดชัน เป็นต้น ทำให้ได้ข้อมูลในการวิเคราะห์ที่ต่อเนื่อง ซึ่งการนำเทคนิค InSAR มาใช้ในการศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงและติดตามการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในบริเวณรอยเลื่อนมีพลังได้ โดยมีรายละเอียดในการทำงานของ InSAR ดังภาพ

ภาพที่ 3 เรขาคณิตของ InSAR (ดัดแปลงภาพจาก Hanssen, 2001; Bamler and Hartl, 1998).


      InSAR สามารถหาค่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวโลกได้ เช่น การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน การทรุดตัวของแผ่นดิน เป็นต้น สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทั้งในลักษณะช้าๆ หรือการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นการเคลื่อนตัวของพื้นผิวโลกที่อยู่ในแนวเรดาร์ Line-of-sight เท่านั้น จากภาพที่ 5 สมมติให้ t1 คือช่วงเวลาที่บันทึกภาพในครั้งแรก t2 คือช่วงเวลาที่บันทึกภาพในครั้งต่อไป มีการเปลี่ยนแปลงของจุด P’ ไปยัง P เป็นระยะทาง D หากมีการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศระหว่าง 2 ช่วงเวลา ค่าการเปลี่ยนแปลงจะมีทั้งค่าความสูงจากภูมิประเทศ Hp และค่าการเคลื่อนที่ของพื้นผิวโลก Dp ปะปนกันมา

ภาพที่ 4 เรขาคณิตของ Differential InSAR อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของพื้นผิวโลก (ดัดแปลงภาพจาก Hanssen, 2001; Bamler and Hartl, 1998).


วัตถุประสงค์

1.ศึกษาแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และอัตราการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ในอดีต

2.การประยุกต์ใช้เทคนิค Time series InSAR เพื่อหาความเร็วของการเคลื่อนตัวของแผ่นดินไหวในบริเวณรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ในช่วง Interseismic

3.วางแผนติดตาม (Monitoring) การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกบริเวณรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และคาบอุบัติซ้ำของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในบริเวณรอยเลื่อน


ขอบเขตงานวิจัย

      การศึกษาในครั้งนี้นำภาพ SAR มาประมวลผลด้วยเทคนิค Time-series InSAR เพื่อศึกษาพฤติกรรมของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียม Radarsat- 1 ครอบคลุมพื้นที่รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยเทคนิค Time-series InSAR


ภาพที่ 6 แผนที่รอยเลื่อนในจังหวัดกาญจนบุรี กรอบสี่เหลี่ยมแสดงพื้นที่ศึกษาตามขอบเขตภาพถ่ายจากดาวเทียม Radarsat-1 ซึ่งครอบคลุมทางตอนเหนือของเขื่อนศรีนครินทร์



วิธีการศึกษา

ในการติดตามการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีด้วยเทคนิค Time-series InSAR นั้นมีขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ

1.รวบรวมข้อมูลทางด้านธรณีวิทยาที่เกี่ยวกับกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ เช่น ชั้นดิน ชั้นหิน แนวรอยเลื่อนที่จะทำการศึกษา โครงสร้างทางธรณีวิทยาของรอยเลื่อน รวมทั้งเอกสารทางวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงรวบรวมเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องการประยุกต์เทคนิค InSAR กับกับการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน

2.จัดเตรียมขอความอนุเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมระบบเรดาร์ที่มีอยู่ในคลังภาพของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้แก่ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Radarsat-1 ประเภท SLC ทั้ง 12 ภาพ ในแนวการโคจรของดาวเทียมขาลง โหมด Fine Beam (F2) ครอบคลุมบริเวณกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์

3.ติดตั้งซอฟท์แวร์ที่นำมาประมวลผลซึ่งเป็น Open source ที่ถูกพัฒนามาจาก Delft University of Technology ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเบื้องต้นได้แก่ โปรแกรม Doris และ StaMPS/MTI ทั้งสองอาศัยการทำงานร่วมกันบนระบบปฏิบัติการ Linux

4. ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมระบบเรดาร์ และการแปลผลลัพธ์ที่ได้จากเทคนิค InSAR


การศึกษาการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนด้วยวิธีการทางธรณีวิทยา การสำรวจภาคสนาม และการวิเคราะห์คาบอุบัติซ้ำ

1. รวบรวมข้อมูลด้านหลักฐานทางธรณีวิทยาที่มีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนทั่วไปและรอยเลื่อนมีพลัง ได้แก่ ข้อมูลธรณีสัณฐาน ข้อมูลร่องสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง รวมทั้งข้อมูลคาบอุบัติซ้ำ จากสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และงานวิจัยอื่น ๆ

2. กำหนดพื้นที่และวางแผนเส้นทางที่จะสำรวจภาคสนาม โดยพิจารณาจากความเหมาะสมด้านความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ และเป็นพื้นที่ที่เคยมีการสำรวจรอยเลื่อนมาแล้ว

3. เข้าสำรวจพื้นที่ที่คัดเลือกไว้ ทำการสังเกตลักษณะภูมิประเทศและการใช้ประโยชน์ที่ดินทั่วไป โดยเฉพาะหลักฐานทางธรณีสัณฐานที่ปรากฏเป็นภูมิลักษณ์ของภูเขาและทางน้ำ พร้อมทั้งจดบันทึกข้อมูลทางธรณีวิทยา พิกัดตำแหน่ง และบันทึกภาพ


ผลการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Time-Series InSAR


ภาพที่ 7 แสดงภาพรวมของขั้นตอนการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค PSInSAR


        การทำงานจะได้ผลลัพธ์จากขั้นตอนต่าง ๆ ของเทคนิค PSInSAR ซึ่งประกอบไปด้วยการทำงานของสองโปรแกรมร่วมกัน ซึ่งจะลำดับผลลัพธ์ในขั้นตอนต่าง ๆ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

4.1 ผลการวิเคราะห์ Interferogram

        ผลการศึกษาพบจำนวน Interferogram ที่ได้มีทั้งสิ้นจำนวน 11 ภาพ แต่ละภาพได้มาจากการใช้เทคนิค DInSAR ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Time-series InSAR โดยอาศัยการจับคู่ภาพ Master ของวันที่ 16 มีนาคม 2007 สำหรับภาพวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2006, 8 พฤษภาคม 2006, 9 เมษายน 2007, 31 สิงหาคม 2007, 5 ธันวาคม 2007 และภาพของวันที่ 22 มกราคม 2008 มีข้อมูลทางด้านล่างของภาพที่ถูก Crop ออกไป เนื่องจากการอ่านไฟล์เริ่มต้นในโปรแกรมที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งวิธีการนี้โปรแกรมจะอ่านไฟล์เป็นลำดับของ Pixel จึงทำให้เกิดการตัดภาพออกไปซึ่งภาพในส่วนที่เหลือจะถูกนำไปประมวลผลต่อ ในการประมวลผลภาพโปรแกรมจะคัดเลือกเอาเฉพาะภาพที่มีจุดและตำแหน่งเดียวกันมาประมวลผลเท่านั้น บางส่วนที่มีไม่ตรงกันของข้อมูลจะถูกตัดออกไปดังแสดงผลในภาพที่ 7


ภาพที่ 8 Interferogram 11 ภาพ ที่ได้จากการวิเคราะห์ด้วยภาพ RADARSAT-1 จำนวนทั้งสิ้น 12 ภาพ โดยจับคู่กับภาพ Master เพียงภาพเดียวคือวันที่ 16 มีนาคม 2007


4.2 ผลการวิเคราะห์ค่า phase

        ภาพ Interferogram เมื่อวิเคราะห์เฉพาะค่าเฟสออกมาในแต่ละภาพพบว่าค่าเฟสมีค่าอยู่ระหว่าง -3.1 ถึง 3 เรเดียน เนื่องจากระบบที่ส่งออกไปในเรดาร์เป็นระบบที่ค่าแอมปิจูดและเฟส ของ Pulse ที่ส่งออกไปแต่ละครั้งจะเหมือนเดิม (Coherent System) ตามทฤษฎีของ Radio Wave Propagation การแสดงค่าเฟสจึงมีค่าอยู่ในช่วง -Pi ถึง Pi เท่านั้น ซึ่งเป็นภาพที่แสดงถึงค่าเฟสที่ Wrapped กันอยู่ เป็นค่าเฟสที่แยกกันอย่างสิ้นเชิง ดังแสดงในภาพที่ 8 ฉะนั้นก่อนการวิเคราะห์ค่าต่างเฟสที่เป็นค่าที่แสดงถึงการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกนั้น เพื่อให้สัมพันธ์กับค่าการเคลื่อนตัวของแผ่นดินที่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงจำเป็นต้องทำการ Unwrapped ค่าเฟสออกเสียก่อนเพื่อให้ค่าการเคลื่อนตัวที่ได้สอดคล้องกับการเคลื่อนตัวที่เกิดขึ้นจริง ในงานวิจัยนี้อาศัยเทคนิค SNAPHU ดังแสดงผลในภาพที่ 9



ภาพที่ 9 แสดงข้อมูลของ Wrapped Phase ทั้ง 12 ภาพ ที่ได้หลังจากการทำ Interferogram



ภาพที่ 10 แสดงข้อมูลของ Unwrapped Phase ทั้ง 12 ภาพ ที่ได้หลังจากการทำ Interferogram


4.3 การวิเคราะห์จำนวนจุดที่แสดงถึงค่าการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในแนวเรดาร์ (LOS)

        ผลการศึกษาพบว่าข้อมูลจุดที่ให้ค่าสะท้อนกลับของสัญญาณที่คงที่และถาวร (PS Points) จำนวนทั้งสิ้นจำนวน 44,788 จุดหากคิดเป็นพื้นที่ต่อ 1 ตารางกิโลเมตรจะเท่ากับ 1 ตารางกิโลมตรมีจำนวนจุดประมาณ 18 จุด ซึ่งเพียงพอต่อการประมวลผลด้วยค่า Time-series INSAR เพื่อใช้วิเคราะห์การเคลื่อนตัวของแผ่นดิน ผลการวิเคราะห์หลังจากทำการให้ค่าพิกัดภาพให้อยู่ในระบบพิกัดของเรดาร์แล้วพบว่า อัตราการเคลื่อนตัวในทิศทางของเรดาร์ LOS มีอัตราการเคลื่อนตัวระหว่าง ค่าการเคลื่อนตัวมีค่า -39.7 ถึง 54.3 มิลิลเมตรต่อปี ดังภาพที่ 11


ภาพที่ 11 แสดงอัตราการเคลื่อนตัวจากข้อมูล PS Points มีค่าการเคลื่อนตัวเป็นหน่วยมิลลิเมตรต่อปีนำค่าที่ได้มาซ้อนทับกับ Amplitude Image ซึ่งแสดงถึงลักษณะภูมิประเทศ


        จากภาพบริเวณที่มีการเคลื่อนตัวหากวิเคราะห์ร่วมกับภาพ Amplitude ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศแล้วพบว่า จำนวนจุดที่แสดงถึงการเคลื่อนตัวมีการกระจัดกระจายทั่วทั้งภาพ บริเวณด้านล่างของภาพเกิดจากปัญหาการตัดภาพใน Interferogram ดังที่ได้กล่าวในข้างต้นสีของจุดแสดงถึงทิศทางการเคลื่อนตัวที่แตกต่างกันในแนว LOS ภาพที่ 12 เป็นภาพจำนวนจุดซ้อนทับกับพิกัดในพื้นที่จริง โทนสีที่เข้มขึ้นแสดงถึงความเร็วของการเคลื่อนที่ที่เพิ่มมากขึ้น หรือพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้น


ภาพที่ 12 แสดงอัตราการเคลื่อนตัวจากข้อมูล PS Points มีค่าการเคลื่อนตัวเป็นหน่วยมิลลิเมตรต่อปีนำค่าที่ได้มาใส่พิกัดภูมิศาสตร์เพื่ออ้างอิง


        เมื่อนำค่าความเร็วของการเคลื่อนตัวมาซ้อนทับกับแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนตัวในแนวรอยเลื่อนดังภาพที่ 13


ภาพที่ 13 แผนที่จุด PS point เมื่อซ้อนทับกับแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และบางส่วนของเขื่อนศรีนครินทร์ สีแดงแสดงถึงการเคลื่อนตัวที่ออกจากทิศทางของเรดาร์ (แนว LOS) ในขณะที่โทนสีน้ำเงินแสดงถึงการเคลื่อนตัวเข้าหาทิศทางของเรดาร์



ภาพที่ 14 แแผนที่แสดงการเคลื่อนตัวซ้อนทับกับลักษณะภูมิประเทศจังหวัดกาญจนบุรี



ภาพที่ 15 แผนที่แสดงการเคลื่อนตัวซ้อนทับกับลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินในจังหวัดกาญจนบุรี


4.4 การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาจากเทคนิค InSAR

        เมื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของอัตราการเคลื่อนตัวที่ได้จากผลการศึกษา จากภาพที่ 16 แสดงค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเปรียบเทียบในแต่ละจุด โดยพบว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่าตั้งแต่ 4.193 – 34.132 มิลลิเมตรต่อปี ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่สูงที่สุดมีค่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าการเคลื่อนตัวที่วิเคราะห์ได้ โดยภาพรวมค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจะมีค่าสูงทั่วทั้งภาพโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นโทนสีน้ำเงิน (ซ้ายบนของภาพและทางด้านขวาของภาพ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่มีค่ามากแสดงถึงความน่าเชื่อถือในเชิงสถิติที่ต่ำลง เนื่องจากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ได้บ่งชี้ว่ามีการกระจายตัวของกลุ่มข้อมูลออกไปมาก


ภาพที่ 16 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยเปรียบเทียบจากแต่ละจุดที่ได้จากแผนที่แสดงการเคลื่อนตัวของแผ่นดินในแนว LOS ของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี


        สาเหตุที่ทำให้การกระจายตัวของกลุ่มข้อมูลมีค่ามาก มาจากการสะท้อนกลับของสัญญาณเรดาร์ที่แตกต่างกัน พื้นที่ศึกษาส่วนใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงประกอบไปด้วยพืชพรรณจำนวนมาก ดังนั้นค่าต่างเฟสที่คำนวณได้จึงมีการเปลี่ยนแปลงบนพื้นดินตามช่วงเวลาปะปนเข้าไปด้วย เมื่อค่าความไม่สหสัมพันธ์มากขึ้น Coherence จึงลดลงตามลำดับ (Hooper, 2006)


ผลการสำรวจหลักฐานทางธรณีวิทยาของรอยเลื่อนมีพลัง

ภาพที่ 17แผนที่ภูมิประเทศแสดงพื้นที่ริมเขื่อนท่าทุ่งนา บ้านท่าทุ่งนา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี


ภาพที่ 18 ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงรอยเลื่อนเจ้าเณรและผาสามเหลี่ยมบริเวณเขื่อนท่าทุ่งนา


ภาพที่ 19 ผารอยเลื่อนของหินปูนยุคออโดวิเชียนริมถนนด้านตะวันออกของเขื่อนท่าทุ่งนา


ภาพที่ 20 รอยครูดไถลที่แสดงการเลื่อนตัวตามแนวระดับ


ภาพที่ 21 โครงสร้างรูปไส้กรอกของสายแร่ควอตซ์ (สีขาว) บนผารอยเลื่อนด้านทิศตะวันออก


ภาพที่ 22 กรวดเหลี่ยมที่เกิดจากการถูกบดอัดของหินตามระนาบรอยเลื่อนด้านทิศตะวันตก